ประวัติ อำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร)

อำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร)กระทรวงมหาดไทย

          อำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) ต.ม., จ.ช., ว.ป.ร.๔, ร.จ.พ. บุตรขุนศรีพลภักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๒๔ ประวัติส่วนตัวของท่านในวัยเยาว์จะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนยังค้นไม่พบหลักฐาน แต่ทางด้านการศึกษานั้น ท่านได้เข้าเป็นนักเรียนของโรงเรียนมหาดเล็กที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรีทางฝ่ายตะวันตก ในราวปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง โรงเรียนมหาเล็กหลวง ความว่า

“...เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก กำหนดจะรับนักเรียนเพียง ๕๐ คน พอเปิดโรงเรียนแล้วไม่ช้าก็มีคนสมัครเป็นนักเรียนพอต้องการ ส่วนการฝึกสอนในปีแรกสอนแต่ภาคที่หนึ่งคือวิชาเสมียน ให้ครูหัดเสมียนในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้สอน ขึ้นปีที่สองมีนักเรียนสอบความรู้สำเร็จ ๗ คน พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก คือ:-
๑. นายขวัญ ณ ป้อมเพชร           ภายหลังได้เป็น พระยาจงรักษ์นรสีห์
๒. นายเลื่อน ณ ป้อมเพชร          ภายหลังได้เป็น พระยาชวกิจบรรหาร
๓. นายสวัสดิ์ มหากายี              ภายหลังได้เป็น พระยานครพระราม
๔. นายทอง จันทรางสุ               ภายหลังได้เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
๕. นายสว่าง จุลวิธูร                 ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถศาสตรโสภณ
๖. นายสงวน สตรัต                  ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถกวีสุนทร
๗. นายเป้า จารุเสถียร             ภายหลังได้เป็น พระยาพายัพพิริยกิจ

นักเรียนที่ถวายตัวแล้วแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก และเวลามีการงานในราชสำนักเข้าเฝ้าแหนกับมหาดเล็กเสมอ ส่วนการฝึกสอนความรู้สำหรับราชสำนักอันเป็นภาคสองนั้น ได้พระยาชัยนันท์นิพัฒน์พงศ์ (เชย ชัยนันท์) เมื่อยังเป็นจ่ารงมหาดเล็ก เป็นครูเริ่มสอนในปีที่สอง แต่การสอนความรู้พิเศษซึ่งต้องการต่างกันเฉพาะกระทรวง มีความขัดข้องด้วยยังไม่รู้ว่ากระทรวงต่างๆ จะอยากได้นักเรียนมหาดเล็กมีความรู้อย่างใดบ้าง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ วิตกว่าถ้าต่างกระทรวงกะความรู้พิเศษต่างๆ มาให้สอนพร้อมกันหมดทุกกระทรวง โรงเรียนก็จะไม่สามารถสอนให้ได้ ในปีที่สองของโรงเรียนนั้น อยากจะลองสอนความรู้พิเศษแต่สำหรับกระทรวงเดียวดูก่อน ฉันยอมให้ตั้งต้นด้วยกระทรวงมหาดไทย ให้ครูพร้อม วาจรัต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระภิรมย์ราชา เวลานั้นสอนนักเรียนอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นครูการปกครองในโรงเรียนมหาดเล็ก และคิดให้ว่าถ้านักเรียนภาคที่สอง คนไหนจะสมัครรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เรียนแบบแผนการปกครองที่ในโรงเรียนเป็นภาคต้น แล้วฉันจะส่งออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลใดมณฑลหนึ่ง เหมือนอย่างเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอยในกิจการต่างๆ เพื่อให้รู้เห็นการปกครองในหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร มีกำหนดให้ไปศึกษาอยู่ราว ๖ เดือน แล้วจึงให้เรียกกลับเข้ามาสอบความรู้ภาคที่สองในคราวเดียวด้วยกันทั้งความรู้สำหรับราชสำนักและความรู้พิเศษสำหรับกระทรวงมหาดไทย นักเรียนคนไหนสอบได้สำเร็จ การเรียนต่อไปในภาคที่สามซึ่งเรียนแต่เฉพาะราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะให้เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ ออกไปฝึกหัดทำการปกครองอยู่ในหัวเมืองมณฑลละ ๒ คน จนได้รับตำแหน่งประจำราชการ กราบบังคมทูลก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แก้ไขดังว่ามา
พอสิ้นปีที่สอง ได้นักเรียนออกไปเป็นผู้ตรวจการครั้งแรกดูเหมือน ๕ คน นักเรียนมหาดเล็กซึ่งออกไปเป็นผู้ตรวจการนั้นฉันให้เรียกตามแบบโบราณว่า มหาดเล็กรายงานยังสังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก และแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก เป็นแต่ออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง ไปอยู่มณฑลไหน เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังมณฑลนั้น ต้องเข้าไปสมทบกับมหาดเล็กที่ตามเสด็จรับราชการในพระองค์ เช่นเชิญเครื่องราชูปโภค ตั้งเครื่องเสวย และถวายอยู่งานพัดเป็นต้น สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ ส่วนการฝึกหัดมหาดเล็กรายงานนั้น ฉันสั่งให้สมุหเทศาภิบาลใช้ไปเที่ยวตรวจการงานต่างๆ ตามหัวเมืองในมณฑล เพื่อให้รู้จักภูมิลำเนาและผู้คนพลเมืองอย่างหนึ่ง ให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ ให้รู้วิธีปกครองติดต่อกับตัวราษฎรอย่างหนึ่ง มหาดเล็กรายงานได้เล่าเรียนและรับอบรมจากโรงเรียนมหาดเล็กมากแล้ว ไปเป็นตำแหน่งมหาดเล็กรายงานอยู่ไม่ช้ากว่าปี ก็ชำนาญกิจการถึงขนาดที่จะเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นรับสัญญาบัตร เช่นเป็นนายอำเภอเป็นต้นแทบทุกคน แต่เมื่อแรกเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร เป็นแต่ปลดจากโรงเรียนมหาดเล็กไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่สักปีหนึ่งหรือสองปี จนปรากฏว่าทำการงานได้ดีมีความสามารถสมกับตำแหน่ง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นชั้น ขุนเป็นต้นไป...”

สำหรับการเรียนในภาคที่ ๒ ซึ่งมีการส่งมหาดเล็กนักเรียนออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระประสงค์ให้เป็นการฝึกหัดและเรียนรู้แบบแผนทางราชการของกระทรวงมหาดไทยเป็นสำคัญ โดยพระยาพายัพพิริยกิจ ได้กราบบังคมทูลลาขึ้นไปฝึกหัดการอำเภอ ณ มณฑลกรุงเก่า เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑) เป็นระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในปลายปีเดียวกันนั้น

“วันที่ ๓๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ วังสวนดุสิต นายเป้ามหาดเล็กนักเรียน ซึ่งออกไปฝึกหัดการอำเภอ ณ มณฑลกรุงเก่า ได้เล่าเรียนวิชาสำเร็จแล้ว กลับเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท...”

ประวัติการรับราชการ

วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๔๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นผู้ตรวจการมณฑลนครราชสีมา มีลำดับชั้นที่ ๓ โท (เทียบเท่า รองอำมาตย์โท) ต่อมาได้เป็นปลัดเมืองและทำการนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์
วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเป้า มหาดเล็ก นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนวรภักดิ์พิบูลย์” ตำแหน่งกรมการในกองข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา ถือศักดินา ๖๐๐
พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอุดร
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอนุรักษ์ภักดี” มีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทย ถือศักดินา ๖๐๐
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ “อำมาตย์ตรี”
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รั้งผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระบุรีสราธิการ” ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี ถือศักดินา ๓๐๐๐ และพระราชทานยศเป็น “อำมาตย์โท”
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลภูเก็ต
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลพายัพ
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ “อำมาตย์เอก”
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพายัพพิริยกิจ” ตำแหน่งปลัดมณฑลพายัพ ถือศักดินา ๓๐๐๐
วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งนครบาลจังหวัดพระประแดง
วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนาม “นครบาลจังหวัด” เป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ให้เข้าระเบียบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจาก “นครบาลจังหวัดพระประแดง” เป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัดพระประแดง”

ชีวิตส่วนตัว

          พระยาพายัพพิริยกิจ สมรสกับเจ้าบัวตอง (ณ ลำปาง) จารุเสถียร มีบุตรชายซึ่งปรากฏชื่อสำคัญท่านหนึ่ง คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จอมพลประภาส จารุเสถียร บุตรชายของพระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร)

ถึงแก่กรรม

          พระยาพายัพพิริยกิจ ถูกผู้ร้อยลอบยิง ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๐ คำนวณอายุได้ ๔๗ ปี


บ้านพายัพ ของพระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) ตรงข้ามวัดสามพระยา

- ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ -
รอยใบลาน




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สถานที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเจ้านาย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

“พระที่นั่งสีตลาภิรมย์” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม