สถานที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเจ้านาย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


พระบรมศพพระมหากษัตริย์
             ตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีเสด็จสวรรคตจะอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมา จนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งสิ้น ๘ พระองค์ เว้นเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เพียงพระองค์เดียวที่เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ ขณะทรงสละราชสมบัติและดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชปิตุลา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงประชาธิปกศักดิเดชน์  จึงได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ประเทศอังกฤษ แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาบำเพ็ญพระราชกุศลในประเทศไทยภายหลัง
          อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลที่ ๕ เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า หากพระองค์เสด็จสวรรคตให้ประดิษฐานพระบรมศพของพระองค์ไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่สร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังดุสิต เพื่อที่ “จะได้ไม่กีดลูกในพระมหาปราสาท” แต่การณ์มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เมื่อเสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งอนันตสมาคมจะสร้างแล้วเสร็จ

พระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนี
          ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงซึ่งเสด็จสวรรคตในรัชกาลของพระราชโอรส เคยโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นราชประเพณีสืบต่อมา ปรากฏพระนามอยู่ ๓ พระองค์ ได้แก่
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย ในรัชกาลที่ ๓
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๖
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๙
โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีเพียงพระองค์เดียวที่ทรงเคยดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕ ส่วนสมเด็จพระกรมพระศรีสุลาไลย ทรงเคยเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเคยเป็นหม่อมห้ามในสมเด็จพระเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์



พระบรมศพสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ
           สมเด็จพระบรมวงศ์ฝ่ายในซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ แม้ต่อมาบางพระองค์จะได้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่มีพระชนมายุยืนยาวมาถึงรัชกาลของพระราชนัดดาบ้าง หรือมิได้เสด็จสวรรคตในรัชกาลของพระราชโอรสบ้าง เคยโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือในสถานที่อันควรแก่พระราชอิสริยยศ ตามที่ปรากฏดังนี้
           พระองค์ที่ ๑ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งแม้จะมิได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า หรือตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ ๑ แต่ก็นับว่าทรงเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลนั้น เพราะทรงเป็นพระราชมารดาเจ้าฟ้า ชาววังออกพระนามถวายพระพรว่า “สมเด็จพระพรรษา” ในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” ที่ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระชนมายุมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงได้ทรงเปลี่ยนพระราชฐานะมาเป็น “สมเด็จพระบรมอัยกี” เมื่อเสด็จสวรรคตได้เชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท
           พระองค์ที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด” ทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ขณะเสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๓ ทรงดำรงพระเกียรติยศเป็น “สมเด็จพระพันวษา” และประทับอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรส ณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี เมื่อเสด็จสวรรคต จึงอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานไว้ ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม เมื่อถึงคราวจะถวายพระเพลิงจึงอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง จนกระทั่งในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระบรมอัฐิเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕ และภายหลังจากที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต ได้ทรงรับพระราชภาระเป็นประธานราชการฝ่ายใน มาในรัชกาลที่ ๗ ทรงเคารพนับถือเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า” ครั้นในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เมื่อเสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงนับเป็นสมเด็จพระพันวัสสาพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุด
          พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ โดยนับว่าทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี ภายหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่งได้มีการจัดระเบียบตำแหน่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แม้ต่อมาพระราชสวามีจะสละราชสมบัติ แต่พระองค์ก็ยังดำรงอยู่ในฐานันดรนั้นมิได้มีการเปลี่ยนแปลง มาในรัชกาลที่ ๙ จึงทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่มีพระอิสริยยศสูงพระองค์หนึ่ง เมื่อเสด็จสวรรคตจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามพระเกียรติยศ
          โดยจะสังเกตได้ว่า หากสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนเสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์เคยโปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระเกียรติยศสูงสุด โดยอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ยกเว้นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระราชวังเดิม แต่ก็ควรนับเป็นพระเกียรติยศยิ่งอย่างหนึ่ง เพราะพระราชฐานแห่งนั้นเคยเป็นพระราชวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

 


พระบรมศพสมเด็จพระอัครมเหสี
          สมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งเสด็จสวรรคตในรัชกาลของพระราชสวามี ปรากฏพระนามอยู่ ๓ พระองค์ ได้แก่
          พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี บรมอรรคราชเทวี ในรัชกาลที่ ๔
          พระองค์ที่ ๒ พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ในรัชกาลที่ ๔
          พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕
          แต่เดิมนั้นดูเหมือนจะมีธรรมเนียมประดิษฐานพระศพพระอัครมเหสีที่หอธรรมสังเวช ในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพระบรมวงศ์ฝ่ายใน โดยเมื่อคราวงานพระศพสมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี ในพงศาวดารระบุว่า “ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ก็สิ้นพระชนม์ ... ศิริพระชนม์ได้ ๑๙ พรรษา จะเชิญพระศพไปไว้ ณ หอธรรมสังเวช การก็ทำยังไม่แล้วจึงได้เชิญพระศพขึ้นไปไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเมื่อคราวงานพระศพพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ที่ตำแหน่งพระราชเทวี (ต่อมาได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น “กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์” พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) แม้รัชกาลที่ ๔ จะมิได้ทรงยกย่องเสมอด้วยสมเด็จพระนางนาฏโสมนัสฯ แต่ก็ทรงมีฐานะเป็นพระมเหสีเอกเพียงพระองค์เดียวอยู่ในขณะนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพที่หอธรรมสังเวช โดยพระราชหัตถเลขาในรัชกาล ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๐๔ ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช ได้ทรงเขียนถึงการตั้งพระศพสมเด็จพระนางรำเพยฯ ว่า "...ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งเสียใหม่ให้งามดี... แลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีแล้ว..."
          ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (ภายหลังได้รับการสถาปนาพระศพขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” ที่ตำแหน่งพระอัครมเหสี) สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มที่ตำบลบางพูด ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพที่หอธรรมสังเวชเช่นเดียวกัน

พระบรมศพสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
          สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าที่ดำรงพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจากองค์พระมหากษัตริย์ จนถึงกับชาวฝรั่งต่างชาติเรียกว่า “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒” แต่เนื่องจากทรงมีพระราชวังที่ประทับเป็นของพระองค์เอง คือ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกกันสามัญว่า “วังหน้า” อยู่แล้ว  เมื่อเสด็จสวรรคตจึงอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานไว้ยังพระที่นั่งในวังหน้านั้นเอง ดังปรากฏพระนาม คือ
          พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
          พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานานุรักษ์ ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์
          พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
          พระองค์ที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
          พระองค์ที่ ๕ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย


(พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในพระราชวังบวรสถานมงคล
ที่มาของภาพ : http://diarylove.com/forum_posts.asp?TID=12602)

พระบรมศพสมเด็จพระยุพราช
          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นเจ้านายฝ่ายหน้าเพียงพระองค์เดียวนอกจากองค์พระมหากษัตริย์ที่พระบรมศพเคยประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในฐานะที่ทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ และดำรงพระเกียรติยศเสมอด้วยสมเด็จพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประกอบกับเมื่อสวรรคตเสด็จประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง มิได้เสด็จออกไปประทับอยู่วังข้างนอกอย่างลูกเธอพระองค์อื่นๆ เนื่องจากสมเด็จพระราชบิดามีพระราชประสงค์จะทรงสั่งสอนราชการแผ่นดินอย่างใกล้ชิด จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พระบรมศพได้ประดิษฐานบนพระมหาปราสาท

พระศพพระราชวงศ์ฝ่ายใน
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา พระศพของเจ้านายฝ่ายในบางพระองค์ที่ดำรงพระอิสริยยศสูง หรือเป็นที่เคารพแห่งพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือมีพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ อาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ได้แก่ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาเทพสุดาวดี พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ พระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเกียรติยศนี้แก่พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระโสทรเชษฐภคินี และพระองค์ล่าสุด คือ พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สำหรับเจ้านายฝ่ายในนั้น ไม่ว่าจะดำรงพระยศชั้นเจ้าฟ้า หรือพระองค์เจ้าก็ตาม ตามธรรมเนียมที่เคยมีมาเมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะเชิญพระศพประดิษฐานไว้ที่ “หอในพระบรมมหาราชวัง” ที่มีไว้สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ปรากฏนามอยู่ด้วยกัน ๓ หอ คือ หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา (เดิมมีชื่อว่า “หอราชพิธีกรรม” เคยใช้สถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาได้ว่างเว้นไป ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “หอนิเพธพิทยา” ใช้ประดิษฐานพระศพพระอัครชายา พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ เป็นครั้งแรก) และหออุเทศทักษิณา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
           แต่นอกจากหอดังกล่าวแล้ว ในรัชกาลที่ ๕ เคยพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษแก่พระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ซึ่งมีพระราชดำรัสว่าเป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” ให้ประดิษฐานพระศพไว้บนพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เมื่อเจ้านายฝ่ายในบางส่วนได้เสด็จออกไปประทับ ณ สวนดุสิต และสวนสุนันทา หากเจ้านายชั้นสูงพระองค์ใดสิ้นพระชนม์ เคยโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ยังพระที่นั่งในสวนเหล่านั้นด้วย เช่น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พระศพตั้งไว้ ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดดา พระอัครชายาในรัชกาลที่ ๕ พระศพตั้งไว้ ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นต้น แต่หากเจ้านายพระองค์ใดทรงมีวังเป็นของตนเอง หรือประทับอยู่ที่วังของพระญาติ และมีตำหนักพอจะจัดงานพระศพให้สมพระเกียรติได้ ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระศพไว้ที่วัง หรือมิฉะนั้นก็จะเชิญพระศพกลับเข้ามาบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังต่อไป ซึ่งการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายในที่วังเจ้านายฝ่ายหน้า หรือสถานที่อื่นนอกพระบรมมหาราชวัง มีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า

(พระที่นั่งนงคราญสโมสร ในสวนสุนันทา)

“...วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา สิ้นพระชนม์เวลา ๒ นาฬิกาเศษก่อนเที่ยง การที่สิ้นพระชนม์ลงในเวลานั้นออกจะทำให้ยุ่งพอใช้อยู่, แต่ก็ยังดีกว่าสิ้นลงในระหว่างงานบรมราชาภิเษก. ที่จริงท่านพระองค์นี้ก็นับว่าอยู่ได้ทนมาก, เพราะได้ประชวรเปนวรรณโรคภายในมาหลายปีก่อนนั้นแล้ว, และได้ออกไปรักษาพระองค์อยู่ที่วังกรมราชบุรี ผู้เปนพระภาดาของท่าน. เมื่อมีพระอาการหนักลงครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๕ ทูลกระหม่อมได้ทรงกำหนดได้ว่า ถ้าสิ้นพระชนม์ให้เชิญพระศพไปตั้งที่หออุเทศทักษิณา, แต่เจ้าจอมมารดาตลับขอให้ตั้งพระศพไว้ที่ตำหนักในวังกรมราชบุรี เพื่อสะดวกแก่การดูแลรักษา, ฉันก็ตกลงอนุญาตเวลา ๑๐ นาฬิกา คืนวันที่ ๑๖ ฉันได้ไปสรงพระศพ. ฉันจดหมายเหตุอันนี้ไว้ เพราะครั้งนี้เปนครั้งแรกที่ได้ยอมให้ตั้งพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่วังเจ้านายฝ่ายน่า, และได้เปนตัวอย่างสำหรับอ้างในรายอื่นต่อมาภายหลัง. ตามระเบียบที่เคยมาแต่ก่อนนี้ เจ้านายฝ่ายใน, และลูกยาเธอที่ยังมิได้ออกวัง, เมื่อสิ้นพระชนม์ลงก็ตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวชหรือหอนิเพธพิทยาในพระบรมมหาราชวัง (เดิมอยู่ริมกำแพงวังชั้นในด้านตะวันตก, ต่อประตูพรหมศรีสวัสดิ์ออกไป เดี๋ยวนี้รื้อแล้วทั้ง ๒ หอ, และได้สร้างห้องแถวที่มหาดเล็กอยู่ขึ้นแทนใน พ.ศ.๒๔๖๖). ต่อมาเมื่อทูลกระหม่อมทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิตขึ้นแล้ว, และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึ่งได้โปรดเกล้าให้สร้างหออุเทศทักษิณาขึ้นทางริมกำแพงด้านเหนือ เปนที่ไว้พระศพต่อมา หอนี้ทำด้วยไม้ มุงจาก นับว่าเปนของชั่วคราว, แต่จนตลอดรัชกาลที่ ๕ ก็มิได้จัดสร้างขึ้นเปนของถาวร, และต่อมาฉันก็ไม่มีเงินจะสร้างขึ้นให้เปนของถาวร, จึ่งยังคงเปนของ “ชั่วคราว” อยู่จน พ.ศ.๒๔๖๖...” (ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ : ราม วชิราวุธ)


(พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา)

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ในรัชกาลแต่ก่อนมา มีหอในพระบรมมหาราชวังสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล หรือจัดการพระราชพิธีบางอย่าง ต่อมาหอเหล่านั้นได้ทรุดโทรมลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อและสร้างขึ้นใหม่ กับทั้งบูรณะหออื่นขึ้นทดแทนของเดิม ได้แก่ หอหน้าประตูพรหมศรีสวัสดิ์ ทรงขนานนามว่า “หอธรรมสังเวช” หอที่ถนนเขื่อนขันธนิเวศน์ ริมประตูศรีสุนทร หลังข้างเหนือขนานนามว่า “หอนิเพธพิทยา” และหอข้างใต้ขนานนามว่า “หออุเทศทักษิณา”และหอที่อยู่ระหว่างอัฏฐวิจารณศาลา และประตูสุวรรณบริบาลขนานนามว่า “หอราชพิธีกรรม”
ในสมัยรัชกาลที่ ๘ พระศพเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ยังคงตั้งบำเพ็ญพระราชกุศล ณ หอในพระบรมมหาราชวังอีกหลายพระองค์ เช่น พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ที่หอนิเพธพิทยา  ใน พ.ศ.๒๔๗๘ พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทเพ็ญภาค ที่หออุเทศทักษิณา ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ ที่หอนิเพธพิทยา ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงมติให้เปลี่ยนชื่อ “หอธรรมสังเวช” เป็น “ศาลาราชการุณย์”
ในรัชกาลปัจจุบัน หอต่าง ๆ ในวังหลวงทรุดโทรมลง หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เมื่อเจ้านายฝ่ายในสิ้นพระชนม์ เคยโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ตามพระเกียรติยศ ดังนี้
ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘
(การประดิษฐานพระศพสมเด็จพระนางจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ ๖ ณ ศาลาสหทัยสมาคม)

พระที่นั่งทรงธรรม ในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพเจ้านายฝ่ายใน ดังนี้
พระองค์ที่ ๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖
พระองค์ที่ ๒ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕
พระองค์ที่ ๓ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐
พระองค์ที่ ๔ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
พระองค์ที่ ๕ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘

 
      (พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร : เว็บไซต์ผู้จัดการ)   (งานพระศพพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ณ พระที่นั่งทรงธรรม)

          หอนิเพธพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นับเป็นเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ประดิษฐานพระศพที่หอในพระบรมมหาราชวัง

(หอนิเพธพิทยา : คุณ Navarat.C โพสในเว็บเรือนไทย )

          ศาลามรุพงศ์ ในวัดมกุฎกษัตริยาราม ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔
          ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้ตั้งพระศพบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา และวังส่วนพระองค์ ถนนราชวิถี ตามลำดับ

พระศพพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า

          “...ตามระเบียบที่เคยมาแต่ก่อนนี้ เจ้านายฝ่ายใน, และลูกยาเธอที่ยังมิได้ออกวัง, เมื่อสิ้นพระชนม์ลงก็ตั้งพระศพที่หอธรรมสังเวชหรือหอนิเพธพิทยาในพระบรมมหาราชวัง (เดิมอยู่ริมกำแพงวังชั้นในด้านตะวันตก, ต่อประตูพรหมศรีสวัสดิ์ออกไป...” (ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ : ราม วชิราวุธ)

          สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า หากเป็นเจ้านายที่พระชนมายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะออกวัง หรือแม้จะเจริญพระชนมายุแล้ว แต่ยังประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง (ที่ไม่ใช่ฝ่ายใน) เมื่อสิ้นพระชนม์ลง ตามธรรมเนียมก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพ ณ หอในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายใน เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้เชิญพระศพประดิษฐานพระศพ ณ หอธรรมสังเวช หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสมัยวุฏฐิวโรดม เชิญพระศพประดิษฐาน ณ หอนิเพธพิทยา เป็นต้น
          แต่หากเจ้านายฝ่ายหน้าที่เจริญพระชนมายุและได้รับพระราชทานวังที่ประทับภายนอกพระบรมมหาราชวังแล้ว เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะประดิษฐานพระศพไว้ ณ วังที่ประทับของพระองค์เอง หรือหากวังไม่มีสถานที่พอจะจัดงานพระศพให้สมพระเกียรติก็จะเชิญพระศพไปประดิษฐานที่วังของพระญาติ หรือสถานที่อันควรแก่พระอิสริยยศ ยกตัวอย่างเช่น
          สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชน์ ประดิษฐานพระศพ ณ วังบูรพาภิรมย์
          สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชบูรณ์อินทราชัย ประดิษฐานพระศพ ณ ตำหนักวังปารุสกวัน
          สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ประดิษฐานพระศพมาประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ประดิษฐานพระศพ ณ วังตำบลข้างวัดพระเชตุพน
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร

          ขอสรุปไว้แต่เพียงเป็นเกร็ดความรู้แต่เพียงเท่านี้ก่อน และคงจะได้เก็บรายละเอียดในแต่ละเรื่องมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

รอยใบลาน
๑๑ กันยายน ๒๕๖๐

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“พระที่นั่งสีตลาภิรมย์” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ประวัติ อำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร)