ลำดับพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก


สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๓๔ (๒๔๓๕ ตามปฏิทินใหม่) ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง มีพระสกุลยศเมื่อแรกพระราชสมภพเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า” ชาววังออกพระนามอย่างลำลองว่า "ทูลหม่อมแดง" จากนั้นได้รับพระราชทานพระนามและเฉลิมราชพระอิสริยยศมาโดยลำดับ สรุปได้ดังนี้




๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๔ (๒๔๓๕ ตามปฏิทินใหม่) ในการพระราชพิธีสมโภชเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามสมมติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณะวิจิตรพิสิฐบุรุษชนุตมรัตน์พัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร”

๑๐ มกราคม ๒๔๔๖ (๒๔๔๗ ตามปฏิทินใหม่) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณวิจิตร์พิสิฐบุรุศย์ ชนุตมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์ มุสิกนาม” (ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม) (สะกดว่า "อดุลยเดช")


๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ จึงทรงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์”

๙ ธันวาคม ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงใช้คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ตามระเบียบที่ได้วางในรัชกาลก่อน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ จึงทรงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์”

๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๒ ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระนามกรมขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ ขัตติยวโรภโตสุชาต คุณสังกาศเกียรติประกฤษฏ์ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุษ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ อัครวรราชนรินทรเชษฐาธิบดี กรมหลวงสงขลานครินทร์” (สะกดว่า "อดุลเดช")

๒๕ มีนาคม ๒๔๗๗ ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ สภาผู้แทนราษฎร ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่ ๑ ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สืบเสนองพระองค์สมเด็จพระปิตุลาธิราช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงประกาศให้ขนานพระนามพระราชบิดาว่า “สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์”


๙ มิถุนายน ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” (ทรงมีพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า ในพระบรมราชวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) (สะกดว่า "อดุลยเดช")

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับการสะกดพระนาม "อดุลเดช" และ "อดุลยเดช" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไว้ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ความว่า

“...จะสังเกตได้ว่า คำว่า “อดุลเดช” นั้น สะกดไม่เหมือนกับสมัยปัจจุบัน ซึ่งเขียน “อดุลยเดช” อันที่จริงพระนามของทูลหม่อมฯ (สมเด็จพระบรมราชชนก : รอยใบลาน) เริ่มเขียน “อดุลเดช” แต่ต่อมาได้มีการเขียนทั้ง ๒ แบบ กลับไปกลับมา และในที่สุดในสมัยนี้นิยมใช้แบบที่ ๒...”




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สถานที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเจ้านาย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

“พระที่นั่งสีตลาภิรมย์” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ประวัติ อำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร)